191121 "ออกเดินทาง" วัดสุวรรณารามวรวิหาร และ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่วัดสุวรรณารามวรวิหารและพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โดยการท่องเที่ยวศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์ ความรู้ และความประทับใจต่อสถานที่ที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทำงานในอนาคตหลายอย่างด้วยกัน
วัดสุวรรณารามวรวิหาร
พื้นที่ที่ประทับใจที่สุดภายในบริเวณวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร คือ ภายในของศาลาการเปรียญรูปด้านภายนอกของศาลาการเปรียญวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร |
จากพื้นที่ภายนอกที่ร้อนอบอ้าว เดินทางเข้าสู่ภายในศาลาการเปรียญที่มีความมืดและร่มเย็นกว่า มีความแตกต่างระหว่างแสงของพื้นที่ภายในกับภายนอกอย่างชัดเจน
เสาที่ยาวไปจนถึงฝ้าเพดานมีความสูง แสงด้านล่างบริเวณใกล้คนจึงมีความสว่างกว่าด้านบน ให้ความรู้สึกเหมือนเสาด้านบนค่อย ๆ หายไป ทำให้รู้สึกว่าเสามีความสูง ผู้ที่เข้ามาใช้งานจึงรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็ก ทำให้สัมผัสได้ถึงความ "ขลัง" ของภายในศาลาการเปรียญได้เป็นอย่างดี
ด้วยช่องเปิดที่มีประมาณ 10-15% ของผนัง ทำให้แสงที่ลอดผ่านเข้าสู่พื้นที่ภายในมีไม่มาก แต่ก็ยังเพียงพอต่อการใช้งาน โดยแสงที่ตกกระทบกับพื้นไม้ด้านข้างทำให้เกิดเป็น indirect light ให้แสงสว่างกับพื้นที่ในทางอ้อม ไม่ส่องถึงผู้เข้าใช้งานอาคารโดยตรง ทำให้เกิดความรู้สึกที่เย็นสบายเมื่อเข้ามาสู่อาคาร
นอกจากนี้ ตำแหน่งของช่องเปิดยังถูกกำหนดไว้ให้พอดีกับส่วนบนของร่างกายในเวลานั่งใช้พื้นที่อาคารพอดี ทำให้ลมที่พัดผ่านเข้ามาพัดโดนคนที่นั่งได้อย่างพอดี เป็นตัวอย่างของการออกแบบที่คำนึงถึงลักษณะการใช้พื้นที่ของคนเป็นอย่างดี
ด้วยลักษณะที่พิเศษเหล่านี้เองที่ทำให้ศาลาการเปรียญวัดสุวรรณารามวรวิหารนี้เป็นตัวอย่างของความพิเศษของสถาปัตยกรรมไทยที่แสดงออกในเชิงลึกมากกว่าเพียงรูปลักษณ์การประดับตกแต่ง แต่แสดงออกถึง space แบบไทย และการให้แสงแบบสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์
พระราชวังมฤคทายวัน
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2466 - 2467 โดยมีนายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ หมู่พระตำหนักมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบไทยผสมตะวันตก ตั้งอยู่ริมทะเล โดยขั้นตอนในการก่อสร้างและบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้นมีหลายส่วนที่น่าสนใจ
ในขั้นตอนการบูรณะ ด้วยความที่เป็นพระราชวังเก่า มีโครงสร้างที่ต่างไปจากการใช้วัสดุปัจจุบัน จึงต้องมีการศึกษาโครงสร้างและวิธีการสร้างเดิมอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเริ่มจากการอ่านจดหมายเหตุในอดีตเพื่อทำความเข้าใจ ทำให้สามารถรักษาเทคนิคการก่อสร้างแบบเดิมเอาไว้ได้
การก่อสร้างอาคารทั้งที่อาคารมีขนาดใหญ่และแบ่งเป็นหลายเรือนแต่กลับใช้เวลาในการสร้างเพียง 7 เดือน เป็นที่น่าสนใจในเชิงของเทคนิคการสร้างอาคารในอดีต
การสร้างอาคารพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างโดยหลบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณที่ตั้ง อาคารมีระบบการใช้ Grid เป็น modular เสาห่างกัน 3 เมตร ด้วยความที่ก่อสร้างอย่างเป็นระบบนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การก่อสร้างในสมัยก่อนมีความรวดเร็ว และทำให้สะดวกต่อการบูรณะบำรุงรักษามากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดการเรียงลำดับความสำคัญ (Hierarchy) แบ่งเป็นฝ่ายหน้า-ใน, ชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน
ความพิเศษอาคารพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
- มีการใช้ระบบ Grid เสาที่ห่างเท่ากันทั้งหมด ทำให้ก่อสร้างได้ง่าย เป็นระบบ และทำให้เกิดมุมมองที่เป็นระเบียบ มองเห็นทะลุถึงกันทั่ว
- อาคารมีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมตะวันตก เนื่องจากผู้ออกแบบเป็นชาวต่างชาติ แสดงออกถึงการก้าวเข้าสู่ยุคโมเดิร์นในสมัยก่อน
- ในกระบวนการศึกษาอาคาร มีการทดสอบหาสีของอาคารที่แท้จริงโดยใช้วิธีการขูดสีออกทีละชั้นจนถึงชั้นในสุดที่เป็นสีจริง ทำให้เห็นรูปแบบของรสนิยมการใช้สีในอดีต
- การวางอาคารมีความสัมพันธ์กับต้นไม้ ยกตัวอย่างเช่น มีการสร้างให้ทางขึ้นบันไดตรงกับต้นไม้ด้านหน้า เป็นการสร้างอาคารอย่างเคารพบริบท ไม่ทำลายธรรมชาติ
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมไทยในยุคโมเดิร์นที่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและความเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก และเป็นตัวอย่างเทคนิคการสร้างในสมัยก่อนที่มีความพิเศษและแตกต่างไปจากในปัจจุบัน เป็นความมหัศจรรย์ที่คนในสมัยก่อนสามารถคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษานำไปใช้งาน
Comments
Post a Comment