191101 "วัดราชาธิวาส" เทคนิคจิตรกรรมแบบตะวันตกกับงานจิตรกรรมไทย
จิตรกรรมไทย เป็นศิลปะที่มีความประณีตสวยงาม มีความอ่อนโยน ละมุนละไมมีลักษณะและรูปแบบพิเศษ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น โบสถ์ วิหาร พระที่นั่ง วัง บนผืนผ้า บนกระดาษ และบนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เนื้อหาที่เขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดีและชีวิตไทย พงศาวดารต่าง ๆ ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับผนังพระอุโบสถ วิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีทางศาสนา ลักษณะจิตรกรรมไทยเป็นศิลปะแบบอุดมคติ (Idealistic) ผนวกเข้ากับเรื่องราวที่กึ่งลึกลับมหัศจรรย์ โดยมักเขียนด้วยสีฝุ่น ตามกรรมวิธีของช่างเขียนไทยแต่โบราณ
เมื่อจิตรกรรมไทยถูกสร้างสรรค์ผ่านเทคนิคของตะวันตก
วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร มีชื่อเดิมว่า วัดสมอราย ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่จำพรรษาของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถแม้จะเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่เป็นลายเส้นแบบตะวันตก วาดโดยนาย ซี. รีโกลี และศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ช่างชาวอิตาลี เจ้าของเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้เทคนิคการวาดแบบเฟรสโก (Fresco) เป็นการผสมสีกับน้ำแล้ววาดลงบนผนังขณะที่ปูนบนผนังยังเปียกอยู่ ถือเป็นเทคนิคยอดฮิตสมัยยุคเรเนซองส์
ภาพเขียนฝาผนัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) |
ตามปกติแล้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณีจะเป็นภาพที่ระบายสีแบนเรียบ ด้วยสีค่อนข้างสดใส และมีการตัดเส้นเป็นภาพ 2 มิติ ให้ความรู้สึกเพียงด้านกว้างและยาว ไม่มีความลึก ไม่มีการใช้แสงและเงามาประกอบ จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีลักษณะพิเศษในการจัดวางภาพแบบเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ ตามผนังช่องหน้าต่าง โดยรอบโบสถ์ วิหาร และผนังด้าน หน้าและหลังพระประธาน ภาพจิตรกรรมไทยมีการใช้สีแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย ทั้งเอกรงค์ และพหุรงค์ โดยเฉพาะการใช้สีหลาย ๆ สีแบบพหุรงค์นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะได้สีจากต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายด้วย ทำให้ภาพจิตรกรรมไทยมีความสวยงามและสีสันที่หลากหลายมากขึ้น
จิตรกรรมไทยที่พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั้นมี 3 ลักษณะ คือ
1. จิตรกรรมไทยลายเส้น ได้แก่ ลวดลายไทย หรือภาพไทยที่เกิดจากการขูด ขีด จารให้เกิดเป็นร่องรอยเป็นเส้นด้วยการนำเอาความงามของธรรมชาติมาดัดแปลงปรุงแต่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ด้วยอุดมคติทางความงามที่เป็นลักษณะพิเศษแบบไทย
จิตรกรรมลายเส้นจากวัดศรีชุม |
ชมพูพาน พญาวานร |
2. จิตรกรรมไทยสีเดียว บางทีเรียกกันว่า “จิตรกรรมเอกรงค์” ได้แก่ ลวดลายไทยหรือภาพไทยที่ระบายสี หรือทำให้เกิดสีเพียงสีเดียวที่เห็นได้อย่างชัดเจน คืองานประเภทภาพลายรดน้ำซึ่งเป็นการเขียนภาพปิดด้วยทองคำเปลวบนผิวยางรัก เช่น ตู้พระธรรม เป็นต้น
3. จิตรกรรมหลายสี หรือ “จิตรกรรมพหุรงค์” เป็นการเขียนภาพ หรือลวดลายไทยระบายสีหลาย ๆ สี บางครั้งก็มีการปิดทองคำเปลวประกอบ มีทั้งภาพเดี่ยว ภาพลวดลาย และประกอบกันเป็นเรื่องราวประดับผนัง สมุดข่อย หรือผืนผ้า เป็นต้น
จิตรกรรมฝาผนังวัดสามเรือน จังหวัดพิษณุโลก |
จิตรกรรมไทยในอดีตส่วนมากเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว หรือไข่ขาวบนผนังของสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะผนังโบสถ์ วิหาร ปราสาท ราชวัง ฯลฯ จึงมักเรียกกันว่า “จิตรกรรมฝาผนัง”
จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก (Fresco) คืออะไร
คำว่า “fresco” มาจากภาษาอิตาลี “affresco” ซึ่งมาจากคำว่า “fresco” หรือ “สด” รากศัพท์มาจากภาษาเยอรมนี จิตรกรรม Fresco หมายถึงภาพเขียนหลายชนิดที่เขียนบนปูนบนผนังหรือเพดาน
คุณลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก มีลักษณะพิเศษทีความคงติดแน่น สามารถคงความสดใสของสีอยู่ได้นับเป็น พันๆปี สีจะฝังลงใต้พื้นปูน เป็นเนื้อเดียวกับปูน แต่ก็เป็นเทคนิคที่ทำได้ยาก เพราะต้องทำงานในขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ เวลาที่ใช้ในการทำงานอาจจะอยู่ที่ระหว่าง 6-8 ชั่วโมง
ตัวอย่างจิตรกรรมปูนเปียก The Creation of Adam, Michelangelo |
ลักษณะของจิตรกรรมตะวันตกจะมีความสมจริง มีการใช้ Perspective ที่แสดงให้เห็นระยะห่างของวัตถุภายในภาพอย่างชัดเจน แตกต่างจากภาพจิตรกรรมแบบไทย
ที่วัดราชาธิวาส เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการนำเทคนิคของตะวันตกมาผสมผสานกับศิลปะจิตรกรรมไทยที่มีอายุเก่าแก่ถึง 100 ปี ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกนี้ก็ยังคงมีความเป็นไทยอยู่ ด้วยเนื้อเรื่องของภาพที่กล่าวถึงพระเวสสันดรชาดก ประกอบกับตัวสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถที่มีลักษณะของความเป็นไทยอยู่
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การนำเอาเทคนิควิธีการทางตะวันตกมาผนวกเข้ากับศิลปะไทยนั้นเป็นวิธีการที่มีมาเก่าแก่เนิ่นนาน เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่ศิลปะไทยมีการนำเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาใช้ แต่ความเป็นไทยของผลงานนั้นก็ยังคงอยู่ และไม่ได้ทำให้ภาพหมดคุณค่าหรือมีคุณค่าที่ลดลงไปจากเดิมเลย กลับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และเป็นตัวอย่างการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป
Comments
Post a Comment