191018 แสงแบบไทย แสงแบบไหน?
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นตลอดปี
แสงแดดเจิดจ้าตกกระทบกับชายคากว้างของอาคารเกิดเป็นร่มเงาอาจเป็นสภาพของแสงแวดล้อมที่เราคุ้นชิน
คุณเคยสงสัยไหมว่าในแต่ละท้องถิ่นมีแสงเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ หรือไม่?
เราสามารถกล่าวได้อย่างแน่นอนหรือไม่ว่าแสงเช่นนี้คือแสงแบบไทย?
แสงลักษณะเดียวกัน หากอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง จะกลายเป็นแสงของประเทศนั้นไปหรือไม่?
เมื่อลองสังเกตและวิเคราะห์ดู จะพบว่าแสงแบบไทยนั้นมีอยู่ในสถาปัตยกรรมไทย
เมื่อมีแสง ย่อมต้องมีเงา
แสงและเงาในสถาปัตยกรรมไทยเกิดจากเส้นรอบรูปของตัวสถาปัตยกรรม
ซึ่งมี "บัว" แบบไทยเป็นเอกลักษณ์
“บัว” เป็นรูปแบบศิลปะไทย ที่ช่างศิลป์เกือบทุกแขนงนำมาเป็นใช้ในงานประดับตกแต่งอาคารโดยรูปแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากบัวหลวงในธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานตกแต่งสถาปัตยกรรมไทย พบว่ามีการเรียกชื่อ “บัว” นำหน้าหรือต่อท้าย อาจเป็นเพราะชิ้นส่วนเหล่านั้นมีเส้นขอบนอกของชิ้นส่วนเป็นรูปวงโค้งเหมือนกลีบบัว ซึ่งบางครั้งมีการตกแต่งให้มองเห็นเป็นรูปลวดลายกลีบบัวโดยตรง โดยบัวจะปรากฎอยู่ในสถาปัตยกรรมไทยส่วนต่าง ๆ เช่น ฐานอาคาร ฐานเสมา เสาอาคาร ผนังภายนอก กำแพง และฐานพระ
บัวมีหลากหลายรูปแบบ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวถลา บัวรวน บัวปากฐาน บัวปากระฆัง บัวปากปลิง บัวหลังเจียด บัวอกไก่ บัวกนก บัวฟันยักษ์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ปรากฎอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรมไทย ยกตัวอย่างเช่น เจดีย์
บัวที่เป็นสิ่งตกแต่งอาคาร ทำให้เกิดลักษณะของแสงเงาที่ต่างออกไปจากที่สถาปัตยกรรมแบบอื่น เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของแสงแบบไทย
นอกจากบัวแล้ว สิ่งที่สร้างความเป็นแสงแบบไทยก็อาจมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายหากลองสังเกตุดูก็อาจค้นพบเอกลักษณ์ของแสงแบบไทยได้มากขึ้น
Comments
Post a Comment