"พระเกี้ยว" สัญลักษณ์อันทรงเกียรติ สู่ สถาปัตยกรรม

Related image

              จากการได้ไปดูงานที่ตึกจักรพงษ์ หรือ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการออกแบบโดย หลวงวิศาลศิลปกรรมและหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ และที่สำคัญคือ เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดสร้างขึ้น เป็นที่ประดิษฐานของ "พระเกี้ยวจำลอง" 

Image result for พระเกี้ยว จุฬา

"พระเกี้ยว"


              เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า 'เกี้ยว' ถ้าเป็นคำนามแปลว่าเครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน

              พระเกี้ยว จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้

              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา

              พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยวซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อ 13 กรกฎาคม 2532


               แม้จะเป็นพระเกี้ยวที่ถูกสร้างจำลองขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่สัญลักษณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นนี้เองเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา และเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สำคัญภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น หอประวัติตึกจักรพงษ์แห่งนี้ ศาลาพระเกี้ยว หอประชุมจุฬาฯ รวมไปถึงอาคารที่สำคัญอาคารอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัย อาคารเหล่านี้ต่างมีจุดร่วมเดียวกัน คือมีพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประดับ หรือสร้างขึ้นจากอิทธิพลของพระเกี้ยว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพระเกี้ยวที่ประดับในเครื่องแบบของนิสิตอีกด้วย

              เป็นเรื่องน่าสนใจที่ สัญลักษณ์ เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่สามารถจับต้องได้ แต่สัญลักษณ์กลับเป็นสิ่งที่สร้างสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาเหล่านี้ขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับวัด และโบสถ์ต่าง ๆ ในอดีต สัญลักษณ์สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและทำให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยไม่ต้องมีตัวตนอยู่จริง โดยใช้สัมผัสทางความรู้สึกในจิตใจ ดังเช่นสัญลักษณ์พระเกี้ยวที่ทำให้ตระหนักถึงชื่อของจุฬาฯ ซึ่งความพยายามในการสร้างสถาปัตยกรรมทำให้เห็นว่ามนุษย์ได้มีความพยายามทำให้ตัวตนของสัญลักษณ์นั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และทำให้ผู้คนเห็นค่าและผูกพันกับสัญลักษณ์นี้มากขึ้น

Comments

Popular posts from this blog

191101 "วัดราชาธิวาส" เทคนิคจิตรกรรมแบบตะวันตกกับงานจิตรกรรมไทย

191018 แสงแบบไทย แสงแบบไหน?