191109 MOCA BANGKOK "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"


“Ars longa, vita brevis

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”


       คติประจำใจของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียน ผู้วางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งได้ยกระดับการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้นำหลักปรัชญาที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” มาเผยแพร่ พร้อมกับหลักวิชา Academic Art ให้ลูกศิษย์ได้ศึกษาเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางศิลปะให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศจนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย”


MOCA: Museum of Contemporary Art (MOCA BANGKOK)


       พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA เกิดจาก “ความหลงใหลในงานศิลปะ” ของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่แท้จริงนั้น คุณบุญชัยเปิด พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย อย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเชิดชูเกียรติของ “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

       งานศิลปะที่จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA เป็นผลงานทัศนศิลป์จากศิลปินหลายรุ่นระดับชั้นครู  แสดงถึงพลังความมุ่งมั่นของศิลปินไทยในการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยอย่างเหนียวแน่น

       ตัวอาคาร พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA ได้แนวคิดจากการนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตบรรจงเป็นลายก้านมะลิ แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ขณะเดียวกันลายฉลุเหล่านี้ ยังเป็นช่องให้แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านมายังภายในอาคารอีกด้วย

แสงแดดเวลาเที่ยงวัน

แสงแดดเวลาบ่ายโมง

       จากการได้ไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ MOCA เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่อธิบายความเป็นศิลปะไทยร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี ตัวอาคารที่มีรูปทรงเรียบง่ายโมเดิร์น เมื่อประกอบกับรายละเอียดของลายฉลุช่องแสง ทำให้เกิดความลงตัวระหว่างศิลปะไทยประเพณีกับศิลปะร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ ภายในตัวอาคารมีสีขาวสะอาดตา มีความเป็นกลาง ไม่ดึงดูดความสนใจออกไปจากผลงานของศิลปิน และสามารถเข้ากับความเป็น "ไทย" ได้เป็นอย่างดี


       พิพิธภัณฑ์มีการจัดการส่งเสริมให้ใช้แสงธรรมชาติจำนวนมาก และมีการซ่อนไฟที่ใช้ฉายผลงานศิลปินในทุกจุด และลายฉลุช่องแสง เมื่อเวลาผ่านไป แสงที่ส่องเข้ามาจากภายนอกก็เกิดการตกกระทบที่ต่างออกไป ทำให้สัมผัสได้ถึง "เวลา" ที่เปลี่ยนแปลงไป เข้ากันกับงานศิลปะได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการวางแผนผังจัดระเบียบและลำดับขั้นตอนในการเข้าชมผลงานเป็นอย่างดี ทำให้เพลิดเพลินกับการชื่นชมผลงาน ตั้งแต่การเดินทางขึ้นจากบันไดเลื่อนวนดูผลงานตามลำดับจนถึงชั้นสูงสุดแล้วจึงลงลิฟต์ที่ซ่อนไว้ งานระบบบนฝ้าเพดานก็มีการจัดแผนผังอย่างดี เมื่อองค์ประกอบทั้งหมดของตัวพิพิธภัณฑ์ประกอบกันทำให้ไม่เพียงแต่ได้เสพงานศิลป์ที่จัดแสดงอยู่ แต่ได้ชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรม และได้สัมผัสความรู้สึกของ "เวลา" ไปด้วย


       นอกจากนี้ยังมีพื้นที่พิเศษอย่าง "สะพานข้ามจักรวาล" จัดแสดงงานเกี่ยวกับโลกไตรภูมิและ "เรือนนางพิม" ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน เป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงการตัดกันระหว่างศิลปะไทยประเพณีและศิลปะไทยร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี


       จากทั้งหมดนี้ นับว่า MOCA เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับศิลปะไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจมาก ๆ ที่หนึ่งเลยทีเดียว การที่ศิลปะที่จัดแสดงสามารถรวมตัวเข้ากับศิลปะแห่งสถาปัตยกรรมอย่างลงตัว นับว่าเป็นสิ่งที่ตอบรับกับวลี "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เป็นอย่างดี

Comments

Popular posts from this blog

191101 "วัดราชาธิวาส" เทคนิคจิตรกรรมแบบตะวันตกกับงานจิตรกรรมไทย

191018 แสงแบบไทย แสงแบบไหน?

"พระเกี้ยว" สัญลักษณ์อันทรงเกียรติ สู่ สถาปัตยกรรม